หลักการออกแบบห้องนอนสไตล์โมเดิร์นลอฟท์ (Bedroom Modern Loft Design)
ประวัติศาสตร์สไตล์ลอฟท์
จุดเริ่มต้นของสไตล์ลอฟท์ (Loft) เริ่มเกิดขึ้นเมื่อสิ้นสุดยุคสงครามโลกครั้งที่2 (ช่วงปี 1939-1945) ผลพวงจากสงครามในยุคนั้น ก่อเกิดความตกต่ำทางเศรษฐกิจ โรงงานอุตอุตสาหกรรมหลายแห่งปิดตัวลงเป็นจำนวนมาก อาคารโรงงานและโกดังหลายๆแห่งจึงถูกทิ้งล้าง ประกอบกับการที่บ้านเมืองยังไม่ฟื้นฟู ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยในยุคนั้นมีราคาสูงมากขึ้นเรื่อยๆ จึงเกิดแนวคิดในการประยุกต์อาคารของโรงงานอุตสาหกรรมที่ถูกทิ้งล้างเหล่านี้ ให้กลายเป็นที่พักอาศัย เพราะการใช้วัสดุดั้งเดิมของโครงสร้างอาคารที่มีอยู่ ทำให้สามารถประหยัดงบประมาณในการตกแต่งและก่อสร้างได้เป็นอย่างมาก จากจุดเด่นในแง่ของฟังก์ชันและความประหยัด เกิดเป็นความโดดเด่นทางด้านสไตล์ที่ได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบันนี้
ด้วยความที่โครงสร้างของอาคารของโกดัง มักนิยมใช้เหล็ก อิฐ หรือปูน เป็นวัสดุหลักในการตกแต่งหรือใช้เป็นโครงสร้าง จึงทำให้อาคารเหล่านี้มีความแข็งแรง และมีลักษณะโปร่งโล่ง ดังนั้น ภาพจำของสไตล์ลอฟท์ที่คุ้นเคยกันดี คือรูปแบบของอาคารที่มีความโปร่ง เพดานสูง เน้นการโชว์พื้นผิววัสดุหรือโครงสร้างอาตารต่างๆ เช่น โครงสร้างเหล็ก ท่อเหล็ก ผนังอิฐ ปูนเปลือย เพดานแบบเปิดให้เห็นงานระบบต่างๆ ตัวอย่างของย่านที่มีกลิ่นอายความเป็นสไตล์ลอฟท์เห็นได้ชัดเจนมากที่สุดนั่นก็คือย่านโซโห ของเมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา
ย่านโซโห (So Ho) เมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นย่านที่มีสถาปัตยกรรมเหล็กหล่อซึ่งมีความรุ่งเรืองในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมราวศตวรรษที่ 19 กล่าวคือเป็นย่ายที่มีรูปแบบอาคารแบบโกดังหรือโรงงานเป็นจำนวนมาก ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของถนนฮูสตัน มิดทาวน์ตอนล่าง มีรูปร่างเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ประกอบด้วยอาคาร 500 อาคาร 26 บล็อก ซึ่งในช่วงปี 1940s โรงงานแถบย่าน SoHo เริ่มถูกรีโนเวทเปลี่ยนโรงงานเก่าให้เป็นที่พักอาศัยเป็นที่แรกๆ ด้วยความที่ลักษณะอาคารที่มีเพดานสูง มีความเปิดโล่ง และโครงสร้างต่างๆ เหมาะกับการนำมาปรับปรุงให้มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่ใช่แค่ในแง่ของที่พักอาศัยเท่านั้น แต่ถูกปรับปรุงเป็นอาคารร้านค้าต่างๆ หรือสตูดิโอที่สามารถเป็นที่พักอาศัยไปในตัว
ประวัติศาสตร์สไตล์โมเดิร์น
จุดเริ่มต้นของสไตล์โมเดิร์น (Modern) นั้นเริ่มต้นขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 18 – 20 หรือในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยสถาปนิกที่มีอิทธิพลในต่อสไตล์นี้ คือ เลอ กอร์บูซีเย (Le Corbusier) สถาปนิกชาวฝรั่งเศส ซึ่งตัวเขาเองมีแนวคิดการสร้างศิลปะแบบพิสุทธินิยม (purism) หรือรูปแบบของงานออกแบบที่ยึดถือความคิดเกี่ยวกับรูปทรงเป็นหลัก มีความเรียบง่าย ไร้ซึ่งการปรุงแต่งใดๆ และกระบวนการออกแบบสถาปัตยกรรมทั้งหมดนั้นจะเป็นไปอย่างมีแผนการ อย่างที่ตัวเขากล่าวว่า “a house is a machine for living in“ หมายความว่า บ้านพักอาศัยควรสนองประโยชน์ใช้สอยอย่างแท้จริง
ในช่วงแรกเริ่ม เลอ อร์บูซีเย มีความคิดว่า บ้านพักอาศัยก็เหมือนกับผลผลิตของผู้บริโภค การออกแบบของเขาส่วนหนึ่งจึงได้แรงบันดาลใจจากภาพจำลองของเครื่องจักรและอาศัยสิ่งเหล่านี้ไปสร้างสรรค์กระบวนแบบใหม่ๆ ซึ่งไม่มีการเกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิม จนกระทั่งช่วงหลังสงครามเขาก็ทิ้งความตั้งใจเดิม ที่ชื่นชอบผลิตผลของเครื่องจักรที่มีผิวพื้นที่เรียบลื่น และหันไปชอบกระบวนแบบใหม่ซึ่งเขาเรียกว่า brutalism คือความหยาบของผิววัสดุ เช่น โครงสร้างแบบ “คอนกรีตเปลือย”
สรุปแล้ว สไตล์โมเดิร์นคือแนวคิดสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่ไม่อิงกับรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิม เน้นการใช้วัสดุตกแต่งหรือของใช้ที่มีประโยชน์ใช้สอยคุ้มค่า จุดเด่นคือรูปทรงเลขาคณิตที่ลดทอนความเป็นลวดลายประดับประดา หรือลดทอนรูปทรงที่ไม่จำเป็นออกไป ไร้ซึ่งการปรุงแต่ง สไตล์โมเดิร์นถือเป็นจุดเปลี่ยนของวงการออกแบบ ซึ่งเดิมทีในช่วงก่อนหน้านั้นจะเน้นไปที่ลวดลายประดับประดาที่ดูหรูหรา ซึ่งอิทธิพลของแนวคิดการตกแต่งสไตล์โมเดิร์นนี้ ก็ได้รับความนิยมในการนำมาประยุกต์ใช้ในวงการตกแต่งจนถึงในปัจจุบัน และถูกนำไปปรับประยุกต์กับการตกแต่งในสไตล์อื่นๆ อย่างเช่น สไตล์ลอฟท์
ลักษณะสถาปัตยกรรม 5 ประการของ เลอ การ์บูซีเย
- ยกพื้นสูงลอยตัว มีลักษณะเบา
- จัดแผนผังพื้นที่ใช้สอยอิสระ (free plan) เพราะใช้ผนังลอยได้
- free facade ผนังด้านนอกไม่จำเป็นต้องรับน้ำหนัก
- ใช้ roof garden มีfunctionเป็นระเบียง-สวน-ดาดฟ้าเนื่องจากเป็นFlat roof
- ใช้ ribbon window ช่องเจาะยาวแนวนอนได้
สไตล์ Modern&Loft
สไตล์โมเดิร์น&ลอฟท์ ในงานตกแต่งภายใน คือการนำเอากลิ่นอายหรือจุดเด่นของการตกแต่ง 2 สไตล์ นั่นคือ “โมเดิร์น” และ “ลอฟท์” มาประยุกต์ใช้ในการตกแต่งร่วมกัน กล่าวคือ เป็นการนำเอาลักษณะเด่นของทั้ง 2 สไตล์มาผสมผสานการตกแต่งเพื่อเติมจุดด้อยของกันและกัน จนเกิดเป็นรูปแบบของการตกแต่งแบบใหม่ ซึ่งมีความทันสมัยและดิบเท่ในตัวเอง เป็นสไตล์การแต่งบ้านที่เอาความทันสมัยของเฟอร์นิเจอร์รูปทรงเลขาคณิตมาผสมผสานกับความดิบของวัสดุธรรมชาติ เช่น ลวดลายของไม้ อิฐ ความดิบของปูนเปลือย หรือแม้แต่โชว์งานระบบต่างๆ ของอาคารโดยไม่ปิดซ่อน
ลักษณะของงานออกแบบภายในสไตล์โมเดิร์น&ลอฟท์ จะถูกถ่ายทอดผ่านการเลือกเฟอร์นิเจอร์หรือวัสดุตกแต่งต่างๆ ของทั้ง 2 สไตล์ โดยจะถูกจับมา Mix and Match ให้เข้ากัน โดยอาจจะแบ่งเป็น Loft 60%/Modern 40% หรือ Modern 60%/Loft 40% อยู่ที่ว่าผู้ออกแบบอยากให้สไตล์ไหนถูกถ่ายทอดออกมาโดดเด่นมากกว่ากัน ซึ่งการเลือกว่าจะเอาสไตลไตล์ไหนเป็นหลัก นอกจากเรื่องความสวยงามแล้ว ยังเป็นการกำหนดทิศทางการตกแต่งให้มีหลักชัดเจนว่าจะเน้นไปที่โทนไหนมากกว่ากัน เพื่อไม่ให้เกิดการแย่งกันเด่นจนเกินไป